วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ใบงานที่ 3 บทความและสารคดี

บทความและสารคดี
เรื่อง ปลิง (Leeches)

ปลิง (Leeches) นับเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มี ลำตัวแบ่งเป็นปล้องที่คนไทย ทั้งเกลียดทั้งกลัวมากที่สุด ประเภทหนึ่ง ด้วยรูปร่างที่ยืด ยาวได้ ดูเป็นเมือกลื่นๆ ลำตัวสี ออกดำคล้ำ และนิสัยชอบดูด กินเลือดมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ทำให้มีผู้สนใจศึกษาชีวิตของ ปลิงน้อยมาก ในประเทศไทย พบมีปลิงอาศัยอยู่หลายชนิด ชนิดที่สำคัญคือ ปลิงควาย หรือปลิงเข็ม (Cattle leech) ปลิงเข็มคือตัวลูก ของปลิงควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Poecilobdella manillensis จัดอยู่ใน วงศ์ Hirudidae มีลักษณะคล้ายคลึงกับปลิงควายอินเดีย (P. granulosa) และปลิงควายชวา (P. javanica) ในสมัยก่อนจัดให้ปลิงควายอยู่ในสกุล Hirudinaria นอกจากปลิงควายแล้วยังพบมีปลิงอีกหลายชนิด เช่น ปลิงชนิด Dinobdella ferox ดูดกินเลือดอยู่ภายในช่องจมูกของวัว ควาย ปลิงชนิด Hemiclepsis marginata ดูดกินเลือดปลาน้ำจืด และปลิงชนิดParaclepsis vulnifera ดูดกินเลือดในช่องเหงือกของปูน้ำจืด สองชนิดหลังนี้จัดอยู่ในวงศ์ Glossiphoniidae

ปลิงเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาจากพวกไส้เดือน เหตุที่เชื่อเช่นนี้เพราะปลิงหลายชนิดยังพบมีขนสั้นๆ บนปล้องลำตัว 5 ปล้องแรก ขนาดและ ลักษณะของปลิงก็แตกต่างกันไปตามปริมาณของอาหารในทางเดินอาหาร รูปร่างจะยาวเรียวเมื่อหิวและอ้วนสั้นเมื่ออิ่ม จำนวนปล้องลำตัวมักมี 22 ปล้อง ส่วนปาก 4 ปล้องเป็นปุ่มดูดด้านหน้า ส่วนท้ายลำตัวมีปุ่มดูดขนาด ใหญ่ รูปทรงเกือบกลม และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงประกอบไปด้วยปล้อง 7 ปล้องรวมเป็นจำนวนปล้องตลอดตัว 33 ปล้อง ปล้องลำตัวแต่ละปล้องยังแบ่ง ออกเป็นวงแหวนเล็กๆ อีก 3-5 วง ตรงกึ่งกลางของลำตัวแต่ละปล้องมี 5 วงแหวน ซึ่งจำนวนวงแหวนนี้จะลดลงไปเรื่อยๆ ทางด้านหัวและด้านท้ายมี จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 100 วง ทางเดินอาหารของปลิงมีส่วนกลางขนาด ใหญ่และมีถุงเล็กๆ อยู่ทางด้านข้างเป็นจำนวนมาก เพื่อให้บรรจุเลือดได้เป็น ปริมาณมาก ลักษณะเช่นนี้เป็นการปรับตัวในการกินอาหารของปลิง เพราะ โอกาสที่จะดูดเลือดเหยื่อมีไม่บ่อยนักและแต่ละครั้งอาจกินเวลานาน ห่างกันมาก รูทวารของปลิงเปิดออกทางด้านกึ่งกลางหลังตรงรอยต่อระหว่าง ลำตัวกับปุ่มดูดท้ายลำตัว



ปลิงเคลื่อนที่ไปโดยการคืบไปบนพื้นดิน ใช้ปุ่มดูดอันหน้าและปุ่มดูด อันท้ายจับพื้นสลับกันและสลับกับการยืดลำตัวยาวออกไป ปลิงว่ายน้ำได้เก่ง โดยการทำลำตัวให้แบนแล้วสะบัดลำตัวเป็นคลื่น ทำให้ตัวพุ่งไปข้างหน้า ในการหาอาหารปลิงอาศัยคลื่นเสียงที่ไปกับน้ำและกลิ่นของเหยื่อเป็นตัวพาไปสู่เหยื่อ

เนื่องจากปลิงจัดเป็นตัวเบียนภายนอกที่คอยดูดกินเลือดสัตว์อื่นๆ ปลิงจึงต้องมีการปรับตัวหลายประการให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ปลิงมีชุกชุมมากในฤดูฝน เมื่อฝนเริ่มตกจะเห็นลูกปลิงควายออกมาว่ายน้ำเป็นจำนวนมาก แต่ในฤดูแล้งปลิงจะซุกนอนอยู่ใต้ผิวโคลน รอจนกว่าฝนจะตกลงมาอีกครั้งหนึ่ง โดยธรรมชาติปลิงจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำทั่วไปทั้งในน้ำนิ่งและน้ำไหล พบชุกชุมเป็นพิเศษในหนองน้ำ นาข้าว และปลักควาย ฯลฯ ปลิงแต่ละสกุลชอบกินเลือดของสัตว์แตกต่างกันไป เช่น ปลิงควายในสกุล Poecilobdella กินเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ในขณะที่ปลิงสกุล Hirudo กินเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาน้ำจืด

ปลิงควายอยู่ในกลุ่มของปลิงที่มีขากรรไกรเจริญดี พบในช่องปากมี ขากรรไกร 3 อัน แต่ละอันมีฟันคมเรียงเป็นแถวบนสันมากมาย ปลิงใช้ขากรรไกรนี้กัดผิวหนังของเหยื่อให้ขาดออก ด้วยวิธีคล้ายเลื่อยวงเดือนตัดลง ไปในเนื้อไม้ บาดแผลที่เกิดจากการกัดของปลิงจึงมีรูปเป็นดาวสามแฉก ปลิงสามารถกัดผิวหนังของเหยื่อได้นิ่มนวลมาก จนเหยื่อแทบไม่รู้สึกตัวเลย ครั้งแรกปลิงจะฉีดสารที่มีลักษณะคล้ายสาร histamine เข้าไปในบาดแผล มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลออกมาได้มาก ต่อมาจึงเริ่มดูดกินเลือดพร้อมปล่อยสารประเภทโปรตีนชื่อ hirudin ออกมาปนกับเลือด สารนี้ช่วยทำให้เลือดไม่แข็งตัว



ตามปกติปลิงดูดเลือดได้ประมาณ 4-5 เท่าของน้ำหนักตัว หรือ ประมาณ 10-15 ซีซี อาหารที่กินแต่ละมื้อที่อยู่ในทางเดินอาหารนี้จะถูก ดูดเอาน้ำออกและทำให้เข้มข้นขึ้น และใช้เวลาย่อยให้หมดถึง 6 เดือน โดยอาศัยการช่วยย่อยและเก็บรักษาของเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Pseudomonas hirudinis ช่วยทำไม่ให้เลือดเน่าเสีย ปลิงจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณครึ่งปีด้วย เลือดเพียงมื้อเดียว หลังจากนั้นหากยังไม่มีอาหารกินอีกครั้งหนึ่งปลิงจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้อีกเป็นเวลานานหลายเดือนโดยการย่อยเนื้อเยื่อบางส่วนของ ร่างกายเป็นอาหารยังชีพ

ปลิงอีกหลายชนิดไม่ได้ดูดกินเลือดมนุษย์และสัตว์ เนื่องจากมีขา- กรรไกรไม่เจริญดีเพียงพอ บางชนิดมีงวงยาวที่เกิดจากทางเดินอาหารส่วน หน้ายื่นยาวออกมา และมีกล้ามเนื้อที่หลอดอาหารแข็งแรงใช้ดูดกินเหยื่อ เช่น ดูดเนื้อหอยออกจากเปลือก หรือบางชนิดใช้การกลืนกินเหยื่อเข้าไป ทั้งตัว เหยื่อประเภทนี้มักมีขนาดเล็ก เช่น แมลง ตัวอ่อนของแมลง กุ้ง หนอน หอย และซากสัตว์



ปลิงทุกชนิดเป็นสัตว์กะเทย คือมีอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน โดยมีรังไข่เพียงคู่เดียวและมีอัณฑะหลายคู่ แต่ในการสืบพันธุ์ ต้องมีการแลกเปลี่ยนเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้ระหว่างกัน เมื่อจะแลกเปลี่ยนเซลล์สืบพันธุ์ปลิงจะขึ้นมาอยู่บนบก เอาใต้ท้องแนบกันในท่ากลับหัวกลับหาง แล้วแต่ละตัวจะใช้อวัยวะที่ยืดหดได้จากช่องตัวผู้ ซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งระหว่าง ปล้องที่ 31 กับปล้องที่ 32 สอดเข้าไปฉีดเซลล์สืบพันธุ์ลงในช่องตัวเมีย ที่ ตรงตำแหน่งระหว่างปล้องที่ 36 กับปล้องที่ 37 ไข่ที่ออกมาเก็บไว้ในถุงไข่ เรียก cocoon ซึ่งจะติดไว้กับวัสดุต่างๆ ใต้น้ำหรือเก็บไว้ในโพรงริมตลิ่ง ลูก- ปลิงที่ฟักออกมามีลักษณะคล้ายปลิงตัวพ่อแม่ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก





จะเห็นได้ว่าปลิงมีชีวิตที่น่าสนใจอยู่หลายประการ อีกทั้งปลิงยังมี ประโยชน์ในด้านการแพทย์สมัยโบราณ ซึ่งนำเอาปลิงมาใช้ฟอกโลหิต คือ ดูด เอาเลือดเสียออกจากแผลได้เป็นอย่างดี ปลิงเป็นอาหารของเป็ด นก และปลา บางชนิด ปลิงช่วยลดจำนวนสัตว์ขนาดเล็กที่มีโทษต่อมนุษย์และสัตว์จำพวก หนูต่างๆ ได้ดี สำหรับโทษของปลิง นอกจากจะเป็นตัวเบียน คอยดูดเลือด มนุษย์ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าแล้ว ปลิงบางชนิดยังเข้าสู่เหยื่อขณะดื่มน้ำ เข้า สู่จมูกลงไปในคอ หลอดลม และหลอดอาหาร ดูดกินเลือดและเยื่อบุจนเกิด อาการบวม จึงอาจทำให้สัตว์ถึงแก่ชีวิตได้เนื่องจากหายใจไม่ออก

หากพูดถึงสัตว์ที่คนไทยไม่ค่อยอยากจะเข้าใกล้มากที่สุด เชื่อได้ว่าหนึ่งในนั้นก็คงจะมีชื่อ ของ ปลิง อย่างแน่นอน อาจเป็นเพราะรูปร่างลักษณะลำตัวที่เป็นปล้องๆ ยืดยาว ดูค่อนข้างน่ากลัว แต่ทราบหรือไม่ว่า เบื้องหลังหน้าตาที่ดูไม่ค่อยจะน่ารักของปลิงนั้น มีประโยชน์มากมายซ่อนอยู่ ซึ่งปลิงที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดี ก็จะมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ นั้นก็คือปลิงน้ำจืด ที่อยู่ตามแหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ดูดเลือดเป็นอาหาร และอีกประเภทคือปลิงทะเล ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายหาด กินสารอินทรีย์ในท้องทะเลเป็นอาหาร


กบนอกกะลา : ปลิง ช่วงที่ 1/4

กบนอกกะลา : ปลิง ช่วงที่ 2/4

กบนอกกะลา : ปลิง ช่วงที่ 3/4

กบนอกกะลา : ปลิง ช่วงที่ 4/4


Cr. รูปภาพ1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น